เคล็ดลับการเล่าเรื่องให้จบภายใน 3 นาที
ปัญหาหนึ่งซึ่งนักเล่าเรื่องมือใหม่พบเจออยู่บ่อย ๆ คือใช้เวลาในการเล่าเรื่องนานเกินไป ไม่สามารถเล่าให้จบเรื่องได้ในเวลาสั้น ๆ หลายคนเกริ่นนำยาวไปไม่กระชับ บางคนก็ให้รายละเอียดที่ไม่จำเป็นมากเกินไป บางทีก็พูดซ้ำ กระโดดข้ามไปข้ามมา หาจุดจบของเรื่องไม่ได้ เหมือนเครื่องบิน ๆ มาถึงจุดหมายปลายทางที่สนามบิน แล้ว แต่กลับบินวนไปวนมาไม่ลงมาจอดสักที
วันนี้ผมมีเคล็ดลับการเล่าเรื่องให้จบภายในเวลา 3 นาทีมาแชร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางและหลักการเบื้องต้นสำหรับคนที่เริ่มฝึกเล่าเรื่อง และต้องการเล่าเรื่องให้จบภายในเวลาที่กำหนด เคล็ดลับนี้มี 5 ข้อเรียกย่อ ๆว่า “SHORT” ดังต่อไปนี้
1. Structure
ลำดับโครงสร้างให้ชัดเจน ทั้ง 3 ส่วน คือ จุดเริ่มต้น (Start) ดำเนินเรื่อง (Story) และจุดจบ (Stop) เมื่อจัดโครงสร้าง ได้แล้วค่อยเตรียมเนื้อหา ข้อมูล หรือประโยคคำพูดที่จะต้องใช้ในแต่ละส่วน ซึ่งสัดส่วนเนื้อหาและเวลาที่ใช้ในแต่ละส่วน ควรใช้สูตร 10:80:10 หมายถึง ส่วนของจุดเริ่มต้น 10% การดำเนินเรื่อง 80% และส่วนสรุปจบอีก 10% รวมเป็น 100%
2. Hit the point
เข้าเรื่องเร็ว เดินเรื่องกระชับฉับไว ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ย้วย คำพูดหรือถ้อยคำที่ใช้ ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่คลุมเคลือ ผู้ฟัง ๆ แล้วเข้าใจทันที ไม่ต้องตีความให้สับสนวุ่นวาย ถ้าจำเป็นต้องใช้คำศัพท์เฉพาะทาง จะต้องอธิบายเป็นภาษาไทยสั้น ๆ หรือยกตัวอย่าง สั่น ๆ ให้คนฟังเข้าใจและเห็นภาพตาม
3. One key message
มีหนึ่งใจความสำคัญ ซึ่งเป็นแก่นของเรื่องที่เล่า เป็นข้อคิด หรือบทเรียน ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ฟังใจความสำคัญจะออกมาในรูปของประโยค หรือวลีก็ได้ เพียงแต่ต้องสั้นกระชับไม่เยิ่นเย้อ ยกตัวอย่างนิทานเรื่องเล่า “กระต่ายกับเต่า” หลังจากจบเรื่องแล้ว คนเล่าก็จะบอกว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความประมาทนำไปสู่ความพ่ายแพ้” (มองที่พฤติกรรมของกระต่าย) ขณะที่ผู้เล่าบางคนอาจจะจบด้วยประโยคอื่นก็ได้ เช่น นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” (มองที่พฤติกรรมของเต่า)
4. Rehearse
ต้องฝึกซ้อมก่อนเสมอ การเล่าเรื่องก็ไม่ต่างจากการสื่อสารแบบอื่น ๆ ถ้าผู้สื่อหรือคนเล่าเรื่องต้องการให้การเล่าเรื่องของตัวเองออกมาดี เล่าได้ต่อเนื่อง ราบรื่น ไม่ติดขัด ไม่เกิดอาการตื่นเต้นประหม่า ไม่พูดเอ่ออ่า ก็ต้องฝึกซ้อม ทดลองเล่า จนกระทั่งภาษาที่ใช้ น้ำเสียง จังหวะที่พูด และการแสดงออกทางสีหน้าแววตา ท่าทาง มีความเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับเนื้อหา และอารมณ์ของเรืองที่เล่า ถ้าตรงไหนยังไม่ดี มีตรงไหนติดขัด ก็ต้องแก้ไขฝึกซ้อมต่อไป จนกว่าจะเล่าได้ดี
5. Time control
ควบคุมเวลาในการเล่าเรื่องให้ได้ตามกำหนด ทั้งในระหว่างการซ้อมในข้อที่ 4 และขณะที่เราเล่าจริง คนเล่าจะต้องบริหารเวลาที่มีให้ดี มีนาฬิกา หรือใช้โทรศัพท์มือถือ จับเวลาก็ได้ อย่าให้เล่าเกินเวลาเด็ดขาดเพราะคนจะมองว่าเราไม่มีความเป็นมืออาชีพ ถามว่าเล่าจบเร็วกว่าเวลาที่กำหนดได้ไหม คำตอบคือได้แต่ควรจบก่อนเวลาสักประมาณ 5-10 % ของเวลาที่กำหนดให้ การเล่าเรื่องและการสื่อสารรูปแบบใด ๆก็ตาม ถ้าเขากำหนดให้เวลาเรามา 3 นาที เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ ผู้ฟังก็จะมองว่าไม่เป็นมืออาชีพ
สุดท้ายนี้ผมมั่นใจว่า ถ้านักเล่าเรื่องมือใหม่นำเคล็ดลับ “SHORT” ทั้ง 5 ข้อนี้ไปใช้ในการวางแผนซักซ้อมก่อนการเล่าจริงทุกครั้ง ก็จะช่วยให้ท่านสามารถเล่าได้ สั้นกระชับ ตรงประเด็น ได้ใจความ และที่สำคัญคือจะสามารถเล่าเรื่องให้จบภายในเวลาที่กำหนดได้อย่างมืออาชีพ