Storytelling : เล่าเรื่องไปทำไม ทำไมต้องเล่าเรื่อง?
มีหลายคนตั้งคำถาม ด้วยความสงสัยว่าทำไมคนเราจะต้องสื่อสารแบบ Storytelling ด้วย ? ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงคนเรามีอะไรที่อยากจะสื่อ ก็บอกข้อเท็จจริง (Fact) บอกออกไปตรง ๆ ก็ได้ทำไมต้องมาเล่าเรื่องให้เสียเวลาด้วย ?
จากประสบการณ์ตรงของผมในฐานะที่มีอาชีพวิทยากรมากว่า 15 ปี สอนหลักสูตร Storytelling ให้กับองค์กรต่าง ๆ มาเกือบ 10 ปี มีเล่าเรื่องต่าง ๆ ลงในในโซเชี่ยลมีเดียมากกว่า 5,000 เรื่อง นอกจากนั้นก็ต้องสื่อสารเล่าเรื่องให้ผู้คนต่างๆ ฟัง ทั้งกับ HR ที่ติดต่อมา นำเสนอขายหลักสูตรให้กับผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมของกลุ่มคนที่ผมจะไปสอน ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรมในแต่ละหลักสูตร
ทุกครั้งที่ผมพบปะผู้คนไม่ว่าจะในงานหรือนอกงาน ผมมักใช้การเล่าเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารเสมอ โดยส่วนตัวผมคิดว่าประโยชน์ของการเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้คนในวงการต่าง ๆ ทั้งผู้นำ นักธุรกิจวิทยากร ครูอาจารย์ พ่อค้าแม่ขาย และนักสื่อสาร หันมาเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาทักษะการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มี 4 ข้อ เรียกย่อ ๆ ว่า “RICH” คือ …
Storytelling & RICH
1) Remember in long term
คนที่ฟังเรื่องเล่า จะจดจำ เรื่องราวนั้นได้อย่างยาวนาน พวกเราลองนึกถึงนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่เราได้ฟังหรือได้อ่านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนเราเติบเป็นผู้ใหญถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมา 10 ปี 20 ปีหรือแม้แต่บางคน 30 ปีมาแล้ว ก็ยังจดจำเรื่องราวของกระต่ายกับเต่าได้เป็นอย่างดี นี้คือจุดเด่นข้อดีอย่างแรกของ Story ที่ทำให้ผู้ฟังจดจำได้อย่างยาวนาน
2) Indirect influence
การสื่อสารผ่านเรื่องเล่าช่วยโน้มน้าวใจผู้ฟังได้แบบเนียน ๆ ไม่ฝืนใจ ไม่บังคับ เพราะคนฟังจะเปิดใจรับเรื่องราวด้วยตัวเอง โดยคนเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องชี้นำ เพราะเรื่องเล่า หรือ Story จะทำหน้าที่นั่นด้วยตัวมันเอง เช่น เมื่อได้ฟังนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าจบลง ผู้ฟังจะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองว่า พฤติกรรมของกระต่ายกับเต่าพฤติกรรมไหนที่เขาควรทำตาม พฤติกรรมไหนที่ควรระมัดระวัง ไม่ควรลอกเลียนเป็นแบบอย่าง
3) Costless
การเล่าเรื่องเริ่มต้นที่ศูนย์บาท ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของเรา ก็ไม่ต้องใช้เงินไปซื้อหามาด้วยซ้ำไป เพราะเรื่องเล่า หรือ Story แต่ละเรื่องของแต่ละคน ถูกเก็บบันทึกอยู่ในสมองอยู่ในความทรงจำของคนนั้น ๆ ทุกคนล้วนมีเรื่องเล่าของตัวเองอยู่แล้ว หากคนเล่านึกถึงเรื่องนั้นและต้องการจะเล่า ก็สามารถเล่าเรื่องนั้นขึ้นมาได้ทันที ยกเว้นถ้าเราต้องการเล่าเรื่องของคนอื่น เรื่องขององค์กรอื่น หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่เราไม่คุ้นเคย ก็ต้องลงทุนเรื่องเวลาค้นหาข้อมูล มาซักซ้อมเตรียมตัววางแผน ก่อนที่จะเล่า
4) High engagement
เรื่องเล่าทำให้ผู้ฟังเปิดใจรับสาระสำคัญ (Key Message) ด้วยตัวของเขาเอง รู้สึกอิน หรือผูกพันกับคนหรือตัวละครที่อยู่ในเรื่องเล่านั้น ลองสังเกตเวลาเราดูหนัง ดูละคร ดูซีรี่ย์ หรืออ่านนวนิยาย เรามักจะเผลอลุ้น เชียร์ เอาใจช่วยตัวละครเอกที่เราชอบ อยากให้เขาชนะ ประสบความสำเร็จ รวมทั้งรู้สึกตึงเครียด ไม่สบายใจ เมื่อตัวละครเอก ประสบปัญหาหรือถูกตัวร้ายรังแก นี่คืออิทธิพลของเรื่องเล่าเพราะขณะที่ฟังเรื่องราว ผู้ฟังจะคิดตามจินตนาการตามสิ่งที่ได้ฟัง จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนั้นโดยไม่รู้ตัว ยิ่งไปกว่านั้นถ้าสังเกตให้ดี ๆ เราจะเห็นว่านอกจากผู้ฟังจะเกิดความรู้สึกผูกพันกับเรื่องแล้ว พวกเขามักจะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวคนที่เล่าเรื่องด้วย นี่คือความผูกพันที่เข้มข้น (High engagement)
และทั้งหมดนี้คือ 4 เหตุผลหลัก ที่ทำให้การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นที่นิยม
Remember in long term (จดจำได้ยาวนาน), Indirect influence (โน้มน้าวแบบไม่ฝืนใจ), Costless (ไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง) และ High engagement (เกิดความผูกพันที่เข้มข้น)