

คนที่ไม่ค่อยได้ขึ้นเวที แต่มีความจำเป็นต้องขึ้น และรู้สึกว่ามีความกังวล ความประหม่า การหลับตาสักพัก แล้วใช้จินตนาการ นึกถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย จะช่วยลดความประหม่า และเรียกความมั่นใจขึ้นมาได้
ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสไปแชร์เรื่อง Design Thinking, Pitching และยังไปเป็น Mentor ให้กับทีมขององค์กรแห่งหนึ่งซึ่งจัดงาน Hackathon ว่าแต่ Hackathon คืออะไร ? Hackathon มาจาก “Hack + Marathon” คือ การ Hack หรือคิดนวัตกรรม ไอเดียใหม่แบบเร่งด่วนมีเวลาจำกัด หรือแบบ Marathon นั่นเอง ซึ่งอาจมีทั้งแบบ 1 วัน 2 วัน หรือ 3 วัน โดยส่วนใหญ่ในวันแรก ๆ นั้นจะเป็นการให้โจทย์พร้อมข้อมูลเชิงลึกจาก กูรูในสายนั้น ๆ เพื่อให้เหล่านัก Hack ได้ระดมสมองเพื่อไปแก้โจทย์ หรือสร้างนวัตกรรม บางรายการอาจจะไปจนถึงสร้าง Prototype (แบบจำลองเบื้องต้น) เลยก็มี
สำหรับในงานนี้ จัดไป 3 วัน 2 คืน ในวันแรกผมได้แชร์ Design Thinking Concept และเปิด Mentoring Session ให้กับนัก Hack ส่วนในครึ่งวันที่ 2 ก็ได้แชร์เทคนิคการ PITCH ให้กับเหล่านัก Hack เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการ PITCH ในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ ในคืนก่อนการ PITCH ส่วนใหญ่เหล่านัก Hack จะนอนน้อย เหมือนวิ่งมาราธอน ต้องทำให้เสร็จ และเตรียมพร้อมสำหรับการ PITCH ในวันสุดท้าย จริง ๆ แล้วในวันสุดท้าย ผมหมดหน้าที่ในฐานะ Instructor และ Mentor แล้วครับ แต่ด้วยความที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเหล่านัก Hack เลยอาสาขอมาเป็นกำลังใจนัก Hack ซึ่งในงานนี้ทางผู้จัดงานได้ให้เหล่านัก Hack ซ้อม PITCH ก่อนในช่วงเช้า แน่นอนครับสภาพของนัก Hack อิดโรยจากการนอนน้อย บางคนก็ไม่เคย PITCH บนเวทีมาก่อน ทำให้มีความกังวลและความประหม่า
ผมได้เจอกับน้องคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคย PITCH บนเวทีมาก่อน จากการซ้อมครั้งแรก ความประหม่าและความกังวลถูกถ่ายทอดออกมาจากน้ำเสียง แววตา และท่าทาง อีกทั้งเนื้อหาที่น้องถ่ายทอดบนเวที ก็เหมือนคนแปลกหน้าที่น้องไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อน ทั้ง ๆ ที่อยู่กับเรื่องนั้นมาถึง 2 วัน 1 คืนเต็ม ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้จัดงานก็มาคอยกำกับเรื่อง blocking หรือตำแหน่งยืน เดิน บนเวที และเน้นเรื่องการจับไมค์ ผมเห็นท่าทางไม่ค่อยดี จึงขออนุญาตเดินไปหาน้องบนเวที และขอคุยกับน้องสัก 2-3 นาที และก็ขอความช่วยเหลือจากผู้จัดงานท่านนั้น ให้เอาเทปกาวสีชัดเจนติดไว้ในตำแหน่งที่อยากให้คน PITCH ไปยืน ในระหว่างนั้นเอง บทสนทนาระหว่างผมกับน้องก็ได้เริ่มขึ้น…
ผม : “เป็นยังไงบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้างตอนนี้ ?”
น้อง : “ผมประหม่ามากเลยครับ ไม่เคยขึ้นเวทีแบบนี้ แถมต้องไปยืนตรงนั้นตรงนี้ มัวแต่ไปโฟกัสเรื่องการยืน ถือไมค์จนลืมเรื่องเนื้อหาไปเลยครับ”
ระหว่างนั้นเอง ผู้จัดงานก็ติดเทปกาว blocking ตามที่ร้องขอเสร็จพอดี ผมจึงถามน้องต่อว่า
ผม : “ลองหลับตา แล้วนึกถึงที่ที่รู้สึกผ่อนคลาย หรือที่ที่เป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจ มีที่ไหนบ้าง”
น้องหลับตาสักพักแล้วพูดขึ้นมาว่า
น้อง : “ผมชอบไปร้านกาแฟร้านนึงครับ เป็นที่ตกแต่งได้สวยมาก แบบ Minimal สีขาวและไม้ เปิดเพลง Jazz เบา ๆ ทำให้ผมผ่อนคลายครับ เวลาผมคิดงานไม่ออก ผมมักจะหาเวลามานั่งที่ร้านกาแฟร้านนี้ครับ”
ผม : “แล้วปกติเวลาที่กังวล หรือมีปัญหามักจะโทรหาใคร”
น้อง: “ผมมีเพื่อนสนิทคนนึงครับ เวลาที่ผมกังวลใจ หรืออยากระบาย ผมมักโทรหาเพื่อนคนนี้ เขาเป็นผู้รับฟังที่ดีครับ ผมมักจะสบายใจหลังจากได้คุยกับเพื่อนผม” ผมจึงพาน้องเดินไปบนเวที ชี้จุด blocking ที่ผู้จัดงานแปะเทปกาวสีสดใสบนเวทีแบบเร่งด่วน
ผม: “ลองจินตนาการนะ ว่าจุดที่ยืนอยู่นี้คือร้านกาแฟที่ชอบไป และไมค์ก็เหมือนโทรศัพท์ที่ปลายสายคือเพื่อนสนิทคนนั้นของน้อง คนที่นั่งข้างล่างนั่นก็มองให้เป็นหน้าเพื่อนสนิทของเรา”
น้องยืนหลับตาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเริ่มซ้อมการ PITCH ใหม่ ครั้งนี้ทำได้ดีขึ้นกว่าครั้งแรกที่ได้ซ้อมไป แม้จะไม่ได้ดีขนาดมืออาชีพ แต่เห็นได้ชัดเจนว่า ความกังวลลดลงและมีความมั่นใจมากขึ้น เห็นได้จากน้ำเสียงและแววตาที่ถ่ายทอดออกมา อีกทั้งเนื้อหาที่ถ่ายทอดก็เริ่มเปลี่ยนจากคนแปลกหน้า มาเป็นคนรู้จักกันมากขึ้น
ดังนั้น คนที่ไม่ค่อยได้ขึ้นเวที แต่มีความจำเป็นต้องขึ้น และรู้สึกว่ามีความกังวล ความประหม่า การหลับตาสักพัก แล้วใช้จินตนาการ นึกถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย อาจเป็นสถานที่ คนที่สนิท หรือช่วงเวลาที่ประทับใจ ก็จะช่วยลดความประหม่า และเรียกความมั่นใจขึ้นมาได้ในช่วงเวลาที่คับขันครับ