เรียนออนไลน์ กับ อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย

หนังสือ Think Again

แบ่งปัน

ผมได้อ่านหนังสือ “Think Again” ของ Adam Grant เนื้อหาสาระดีมียอดขายติดอันดับ Bestseller แถมได้รับการชื่นชมจาก บิลล์ เกตส์ ยกย่องให้เป็นหนังสือที่ต้องอ่าน (A must-read book)

ที่หน้า 208-211 ของหนังสือเล่มนี้ พูดถึงการเรียนรู้ของคนที่มักจะเกิดจากการทำอะไรผิดพลาด (I err, therefore I learn) ยิ่งคนทำอะไรผิดพลาด คนๆ นั้นก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น ก็คงเหมือนกับที่เราเคย ได้ยินคำว่า “ผิดเป็นครู” หรือที่มีคนพูดว่า ความโง่มักมาก่อนความฉลาด เพราะความไม่รู้จึงทำให้เรารู้ การที่เรารู้ว่าตัวเรายังไม่รู้เรื่องอะไร จึงมีความสำคัญกับการเรียนรู้ เพื่อการอยู่รอดและเติบโตต่อไป สอดคล้องกับวลีที่บรรทัดบนสุดของหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ …“The Power of Knowing What You Don’t Know”

ในชีวิตจริงจะมีสักกี่คนที่เปิดใจกล้ายอมรับความจริงว่าตัวเองไม่รู้ ตัวเองโง่ กล้าพูดความจริงออกมา อะไรที่ทำให้คนเป็นแบบนั้น ? ทำไมคนถึงไม่กล้าพูดความจริง? ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงคำว่า Psychological Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัย ตราบใดที่คนรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาหรือเธอคนนั้นก็จะไม่พูด หรือทำอะไรแบบตรงไปตรงมา ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ในที่ทำงาน เรามักจะเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้กับตัวเราเองในบางครั้ง หรือหลาย ๆ ครั้งที่ไม่พูด ไม่บอกออกไปตรง ๆ เพราะกลัวว่ามันจะไม่ดีกับตัวเอง พูดไปแล้วกลัวคนอื่นรับไม่ได้ โดยเฉพาะกับหัวหน้าหรือเจ้านายเรา ถ้าทำไปก็กลัวจะผิดกฎบริษัท ขัดกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร ทำแล้วเดี๋ยวเป็นแกะดำ เป็นคนแปลกแยกขององค์กร สู้อยู่นิ่ง ๆ ทำตามเสียงส่วนใหญ่น่าจะปลอดภัยกว่า

แต่องค์กรยุคใหม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการความริเริ่มสร้างสรรค์ต้องการนวัตกรรมทำสิ่งใหม่ ๆ อยากให้เกิดการพัฒนาไม่ต้องการอยู่นิ่ง หรือทำอะไรเหมือนเดิม คนที่เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าทีมที่ต้องการได้ผลลัพธ์จากลูกทีมที่แตกต่างจากเดิม จึงต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
การทำงาน การบริหาร และการสื่อสารของตัวเองเสียใหม่

หนังสือเล่มนี้แนะนำให้ผู้นำสร้างบรรยากาศในการทำงานที่มี 3 คุณลักษณะนี้ คือ

  1. เคารพซึ่งกันและกัน (Respect) เห็นคุณค่าของทุกคน
  2. ไว้วางใจกัน (Trust) เชื่อใจให้อิสระ
  3. เปิดกว้าง (Openness) ยอมรับความต่าง และความผิดพลาดได้ ถ้าคนเป็นผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศ 3 อย่างนี้ได้จะทำให้ลูกน้อง ทีมงาน และเพื่อนร่วมงานต่างแผนกกล้าที่จะบอกปัญหา กล้าพูดความจริง กล้าเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริง
    กล้าบอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร กล้าเสนอไอเดีย กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากหัวหน้า ซึ่งการที่พนักงานกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำแบบนั้นก็เพราะรู้ว่าพูดไปแล้วปลอดภัย หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน จะไม่ว่า ไม่ตำหนิ ไม่ลงโทษ เพราะทำงานกันด้วย Respect, Trust & Openness
    สิ่งที่เราจะสังเกตได้ว่า คนในที่ทำงานมีความรู้สึกปลอดภัย (Psychological Safety) ให้ดูจาก 6 พฤติกรรมต่อไปนี้
    1) ไม่กลัวที่จะทำผิด มองความผิดพลาดเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้
    2) เต็มใจที่จะเสี่ยง และยอมรับได้กับความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น
    3) กล้าพูดความจริงจากใจในที่ประชุม
    4) กล้าแชร์จุดอ่อน จุดเปราะบาง ข้อไม่ดีของตัวเองให้คนอื่นฟัง
    5) ไว้ใจหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ แบบไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแทงข้างหลัง
    6) กล้ายืนกราน ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง ไม่เพิกเฉยหรือนิ่งเงียบ

ก็หวังว่า สิ่งที่ผมได้เขียนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับหัวหน้า และผู้นำทีมระดับต่าง ๆ บ้างพอสมควรนะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย

อาจารย์ไชยยศเป็นนักปั้นวิทยากรมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยกว่า 100 แห่ง มีผู้เข้าฝึกอบรมแล้วกว่า 20,000 คน จากหลักสูตร Train-The-Trainer, Facilitation Skill และ Storytelling และเป็นผู้แต่งหนังสือ “วิทยากรนอกกรอบ”

คุณอาจจะชอบบทความเหล่านี้