เทคนิค 4E ในการเลือกใช้ไอดอลให้โดนใจผู้ฟัง
ถ้ามีโอกาสได้พบกับขงจื้อ หรือเหล่าจื้อ จะถามอะไรกับท่าน? …พี่ครับ ขงจื้อ และเหล่าจื้อ เป็นใครครับ? อยู่ในหนังกำลังภายในเรื่องอะไรครับ? อาการหน้าแตกหมอไม่รับเย็บเกิดขึ้นทันที พยายามจะหาไอดอลมาเป็นตัวช่วยคิด ก็โดนซะแล้ว!
ข้างต้นเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองระหว่างการพูดคุยกับน้องในทีมคนหนึ่ง เขามีปัญหาบางอย่างมาขอคำปรึกษา ขณะที่กำลังฟังไปเรื่อย ๆ ก็มีไอเดียอยากให้น้องเขาค้นหาทางออกของปัญหาด้วยตัวเอง ผมก็เลยนำชื่อตัวละครเด่นที่เป็นไอดอลของผมในหนังสือปรัชญาจีนที่เคยได้อ่านมายกตัวอย่างพูดออกไปอย่างนั้น สุดท้าย…ก็เหวอกันไปทั้งคู่!
การยกตัวอย่างการใช้ไอดอลมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อที่จะนำมาใช้ในอธิบายในการสอน หรือในการชี้แนะ เคยเป็นปัญหาของผมอยู่นานเหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่ากับหัวหน้ามือใหม่ นักบริหารป้ายแดง หรือคนที่เพิ่งผ่านการอบรมสัมมนาที่ไฟกำลังแรง ความตั้งใจเต็ม 100 แต่หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะพลาดได้ง่าย ๆ เหมือนผมเช่นกัน
วิธีหรือไอเดียที่จะทำให้การเลือกใช้ตัวอย่างไอดอล หรือกรณีศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพต้องทำยังไง?
ผมขอนำประสบการณ์ตรงของตัวเองซึ่งสรุปเป็นเทคนิค 4E ดังนี้ครับ
Empathy เข้าใจคนฟัง หรือคนที่เราคุยด้วยแบบเอาใจเขาใส่ใจเรา ไม่ว่าคนที่เราคุยดัวย จะเป็นวิศวกร เป็นหมอ เป็นนักศึกษา เป็นวัยรุ่น เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย ให้ใช้การถามด้วยคำถามทั่ว ๆ ไปก่อน เช่น “ชอบ ซีรี่ส์เรื่องอะไร ? ใครเป็นไอดอลในดวงใจ ? ชื่อหนังสือแบบไหนที่โดนใจอยากหยิบมาอ่าน ดียังไงถึงหยิบมาอ่าน ฯลฯ” ก็จะเป็นคำถามง่าย ๆ แบบนี้ ไม่ยากในการเข้าใจ และเข้าถึง
Event กำลังคุยกันในเหตุการณ์อะไร มีบ่อยครั้งที่คุยกันไปเรื่อย ออกนอกเรื่องไปไกล จนทำให้สับสน จับประเด็นไม่ได้ ไม่รู้ว่าที่กำลังคุยกันว่าด้วยเรื่องอะไร ? มีประเด็นอะไร ? ในการพูดคุยหรือปรึกษาหารือจำเป็นต้องมีโฟกัส ไม่อย่างนั้นจะทำให้เสียเวลาของทั้งสองฝ่าย
Emotion อารมณ์ของคนที่คุยด้วยเป็นยังไง กำลังดุเดือดเลือดพล่าน หรือกำลังสงบนิ่งเป็นน้ำแข็ง ปิดกั้นทุกอย่างหรือไม่ เขาพร้อมที่จะเปิดใจแชร์ หรือให้ข้อมูล และรับฟังเพียงใด ถ้ายังไม่พร้อม ไม่เหมาะ ควรปรับอารมณ์และบรรยากาศให้เป็นกลางเสียก่อน เช่น จิบน้ำเย็นสักนิด ให้เล่าเรื่องความสำเร็จในอดีตของเขา จะพาครอบครัวไปเที่ยวที่ไหนในวันหยุด ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลายเกิดขึ้นก่อน
Easy-word ใช้คำพูด หรือคำถามที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ แล้วเราก็ตั้งใจฟัง เราจะได้รู้ว่า คนที่เรากำลังคุยด้วย เขาชอบอะไร เขารูัสึกยังไง เขาทำอะไรมา เขา… เขา… เขา… ที่เหลือเราก็คัดกรองประเด็น และเลือกตัวอย่าง หรือวิธีที่เหมาะสมในการสอน ในการชี้แนะ และในการอธิบายต่าง ๆ
เทคนิคเหล่านี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนด้วยการฝึกการตั้งคำถามด้วยคำถามสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย แล้วให้เวลากับตัวเองในการตั้งใจฟัง ก็จะเข้าใจคนที่เรากำลังคุยด้วย ที่เหลือก็ไม่ยากที่จะเลือกตัวอย่าง เลือกกรณีศึกษา หรือเลือกวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับคนที่เราคุยด้วย